“ลัดบางกอก”


เป็นคลองที่ขุดขยายขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เพื่อลัดคุ้งน้ำเจ้าพระยา

ที่โค้งอ้อมแผ่นดินกว้างใหญ่รูปเกือกม้า บริเวณเรียกกันว่า “ย่านบางกอก”


ครั้นเมื่อเวลาผ่านไป กระแสน้ำที่ไหลแรงทำให้ลัดบางกอกขยายใหญ่

จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาดังปรากฏในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเดิมก็ตื้นเขิน คับแคบ

ลดขนาดลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ คลองบางขุนศรี

ไปจนออกคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์


“ชุมชนบางกอกน้อย”


เป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ วิถีชุมชนที่นี่แม้จะต่างเชื้อชาติ ศาสนา แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างสุขสันติ

ใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์งานศิลป์ต่างๆ สืบทอดกันมา เนิ่นนานนับร้อยๆ ปี

จากสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี กระทั่งจนปัจจุบัน


“วังหลัง”


เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี โปรดเกล้าฯ ให้

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ปกครองดูแล

พระราชวังหลัง ที่มีอาณาเขตตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย ไปจนถึงวัดระฆังโฆสิตาราม



เพื่อปกป้องบ้านเมืองจากการรุกรานของอริราชศัตรูที่จะยกลงมาจากทางทิศเหนือ

พื้นที่ทั้งหมดนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ในกิจการต่างๆ ตามกาลสมัย แต่ที่เกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย

คือ ผู้คนในละแวกนี้ ที่ยังคงยึดถือเสมอมาว่าพวกเขาเป็น “ชาววังหลัง”

“สถานีรถไฟธนบุรี”


พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ดินส่วนที่ติดกับคลองบางกอกน้อย

สร้างเป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายใต้ ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญที่สุด สร้างยากที่สุด

ไทยต้องยอมสูญเสียผลประโยชน์ของประเทศเพื่อแลกกับการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้


ซึ่งต่อมาได้อำนวยความสะดวกทั้งด้านการคมนาคมและการขนส่งสินค้า ทำให้เศรษฐกิจของหัวเมืองภาคใต้

เจริญรุดหน้า และยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกระชับอำนาจการปกครองหัวเมืองมาลายูให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น


“ศิริราชพยาบาล”


โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของสยาม จุดเริ่มต้นของการรักษาผู้ป่วย ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน


ตราบจนถึงปัจจุบัน ศิริราชยังคงพัฒนาการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด


ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของคนไทยทั้งมวล เป็นความสำเร็จที่นำศิริราชไปสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชียอาคเนย์


จากวันนั้น … จนถึงวันนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้สยามประเทศจะเจริญก้าวหน้าในแทบทุกด้าน
แต่การอนามัยและสาธารณสุขนับว่า ยังล้าหลังขาดแคลนอยู่มาก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงพยาบาลหลวงขึ้นที่บริเวณวังหลังฝั่งธนบุรี
พระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช”
ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อยที่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิด ตั้งแต่พระชันษาได้เพียงปีเศษ

“ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ
เห็นแต่ว่าลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้รับความทุกข์เวทนาแสนสาหัส
ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้รับความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด
ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น”
“ลายเซ็นต์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐

ในเวลาที่กำลังสร้างโรงพยาบาลที่วังหลังนั้น
เป็นห้วงเวลาเดียวกับงานพระเมรุพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
พร้อมพระราชโอรส พระราชธิดาและพระอรรคชายาเธอ ซึ่งสิ้นพระชนม์ต่อเนื่องในปีเดียวกันอีก ๓ พระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะทรงเกื้อกูลแก่โรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ไม้จริงในการก่อสร้างพระเมรุ ตลอดจนอาคารประกอบต่างๆ
ด้วยเมื่อเสร็จการแล้ว โปรดฯ ให้รื้อไปใช้ในกิจการของโรงพยาบาลที่กำลังก่อสร้างขึ้น
เพื่อจะได้เปิดรับรักษาคนไข้เป็นการสาธารณะโดยเร็ว

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเสด็จไปทำพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.
๒๔๓๑ พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “ศิริราชพยาบาล”
และได้เริ่มให้บริการแก่ประชาชนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ส่วนโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของสยาม ราชแพทยาลัยเริ่มทำการสอนในอีกสองปีถัดมา

การดำเนินงานของ “โรงพยาบาลศิริราช”

ในระยะแรกเต็มไปด้วยอุปสรรค ขาดทั้งแพทย์ ไม่มีทั้งคนไข้ ด้วยเป็นของแปลกสำหรับผู้คนในสมัยนั้น ต้องหาวิธีการต่างๆ เช่น
ชักชวนให้พระราชวงศ์มารักษา เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการแพทย์อย่างฝรั่ง

ทางด้านโรงเรียนแพทย์ ก็ขาดแคลนครูผู้สอน แต่ก็ไม่มีผู้ใดย่อท้อ ต่างช่วยกันหาทางปรับปรุงทั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์
เพื่อเป็นที่พึ่งของราษฎรให้จงได้

ต้องใช้เวลาถึง ๓๐ ปี การแพทย์แบบตะวันตกในศิริราชจึงเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
ที่เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาวิชาแพทย์ให้เข้าสู่มาตรฐาน


เฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
ที่ทรงอุทิศพระองค์อย่างเต็มพระกำลังพัฒนากิจการแพทย์ไทยในทุกๆ ด้านจนเจริญถาวรทันสมัย

“...ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง......ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์...”