พ.ศ. 2568 นี้ เป็นโอกาสสำคัญที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
เปิดให้บริการเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
มีเรื่องราวเบื้องหน้าและเบื้องหลังสุดท้าทาย พิพิธภัณฑ์ศิริราช จึงขอนำเรื่องราวต่าง
ๆ มาเล่าสู่กันฟัง เริ่มกันที่ภารกิจยิ่งใหญ่ในการปรับอาคารอนุรักษ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารสถานีรถไฟสายใต้แห่งแรกของประเทศ
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493
กว่าจะพลิกโฉมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สวยสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับรางวัล ได้นั้น
มีรายละเอียดไม่น้อยเลยทีเดียว
ปัญหาแรกที่พบ คือ แทบไม่ปรากฏแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมหลงเหลืออยู่
งานก่อสร้างจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง แม้จะสำรวจแล้วว่าโครงสร้างแข็งแรงดี คาดว่าจะใช้งานได้อีกนาน
แต่ก็ไม่สามารถจะขุดเจาะในอาคารได้อย่างที่ต้องการ เราจึงเริ่มจากการรักษาเอกลักษณ์เดิมให้ได้มากที่สุด
เช่น โคมไฟ เก้าอี้ไม้รอรถไฟ ห้องจำหน่ายตั๋ว ราวกั้นแถวซื้อตั๋ว ประตูหน้าต่าง
ฝ้าเพดาน หรือพื้นสถานีที่เป็นหินขัด ได้รับการปรับปรุงให้พอแข็งแรง งดงามพร้อมใช้งานเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีงานเพิ่มเติมเสริมแต่งบางจุด
เช่น เปลี่ยนพื้นหินขัด ห้องศิริราชขัตติยพิมาน สถานพิมุขมงคลเขต
และโบราณราชศัสตรา ให้เป็นพื้นหินอ่อนจากอิตาลีเพื่อให้สวยงาม สมพระเกียรติกับการจัดแสดงอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
รวมถึงรายละเอียดของโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ผนัง ลายประดับเสา ก็ถูกซ่อมแซม ตกแต่งให้คงเดิม
ใช้เฉดสีเดิม เพื่อแสดงถึงความเป็นอาคารตามสมัยนิยมในช่วงที่ถูกสร้างขึ้น
งานต่อเติมยังรวมไปถึงการติดตั้งกระจกรอบอาคาร
ระบบปรับอากาศ ระบบจัดแสดง แสง สี เสียง ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบดับเพลิง โดยได้กั้นผนังเบาภายใน
เพื่อแบ่งสัดส่วนตามนิทรรศการที่ออกแบบไว้ มีการปรับปรุงฝ้าเพดานบางส่วน หรือแม้แต่การย้ายบันได
เพื่อเพิ่มพื้นที่เข้าถึงห้องควบคุมระบบไฟฟ้ากำลัง และตอกเสาเข็มเสริม
เพื่อรับน้ำหนักลิฟต์สำหรับผู้พิการ
ปัญหาน่าปวดหัวอย่างหนึ่งที่พบ
คือ ความชื้น เพราะแต่เดิม ระบบระบายน้ำหลังคา
ถูกออกแบบให้รับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น แต่เมื่อมีอาคารโรงพยาบาลศิริราช
ปิยมหาราชการุณย์สร้างขึ้นใกล้ ๆ ลมจากแม่น้ำจึงหอบฝนไปกระทบผนังอาคารโรงพยาบาล
และทำให้ส่วนหนึ่งตกลงบนหลังคาอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อฝนตกหนัก
น้ำจะรั่วเข้าอาคารราวกับน้ำตก รางระบายน้ำเดิมรับน้ำไม่ไหว น้ำจึงไหลลงมาตามฝ้าและคาน
ทั้งยังรั่วซึมตามช่องหน้าต่าง หรือทุกซอกทุกมุมที่สามารถแทรกซึมได้
และด้วยอาคารอนุรักษ์
1 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฐานรากอาคารจึงมีน้ำหล่อใต้อาคารตลอดเวลา
นำความชื้นมาสู่อาคารเป็นทุนเดิม เมื่อเจอกับน้ำฝนที่รั่วเข้ามา ประกอบกับเป็นอาคารปิดเพื่อติดระบบปรับอากาศ
จึงมีความชื้นสะสมสูง ส่งผลต่อผิวปูนและสีทาผนัง หลุดล่อนออก ผนังบวม
และเกิดผลึกเกลือกระจายตามจุดต่าง ๆ ซึ่งยังทำให้
เหล็กโครงสร้างเกิดสนิมและปะทุออกจากปูนหลายจุด
จะเห็นได้ว่า งานอนุรักษ์อาคารพิพิธภัณฑ์
ต้องเผชิญกับปัญหายิบย่อยอยู่มาก ผู้ดูแลจึงต้องเฝ้าสังเกตการณ์ คอยแก้ปัญหา
และอนุรักษ์ให้อาคารสถานีธนบุรีเดิม คงอยู่อย่างสวยงามและยั่งยืน โดย
“อาคารพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น
ในระดับดี ประเภท ก งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563
จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้มา
พร้อมจะเป็นบทเรียนให้แก่งานอนุรักษ์อาคารโบราณที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
สำหรับท่านใดที่ยังไม่เคยเดินทางมาเยี่ยมชม
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ขอเชิญท่านมารับชมความงดงามของสถาปัตยกรรมอาคารที่ทีมงานตั้งใจรักษาไว้ให้เหมือนกับวันแรกที่เปิดให้บริการเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ส่วนท่านใดที่เคยเข้ามาเยี่ยมชมแล้ว ก็สามารถกลับมาอีกครั้ง
เพื่อเจาะลึกถึงรายละเอียดที่ท่านอาจชมไม่ครบในครั้งที่ผ่านมา และท่านใดมีคำแนะนำในส่วนของงานอนุรักษ์
เรายินดีรับฟังแนวทางอันเป็นประโยชน์ในการดูแลอาคารแห่งนี้ ให้ตั้งอยู่อย่างสวยงาม
มั่นคงแข็งแรง อยู่มอบความรู้แก่สาธารณชนไปอีกยาวนาน
และนำผลการประเมินไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง