• แชร์ :
  • พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในสยาม

    วันที่ 25 ตุลาคม 2566
    หมวดหมู่ :
  • ความรู้
  • “จำเดิมแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเปนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2459 และต่อมาโดยโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชแพทยาลัยขึ้นอยู่ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์นั้น การศึกษาในทางแพทย์ได้เจริญขึ้นโดยลำดับ ครั้นเมื่อมีการร่วมมือกับรอคคะเฟลเลอร์มูลนิธิ กระทรวงธรรมการจึงได้แก้ไขหลักสูตรใหม่ให้มีแพทย์ปริญญาชั้น Medicinae Baccalareus และยังจะมีชั้น Medicine Doctor ต่อไปข้างหน้าโดยความตกลงเห็นชอบแห่งมูลนิธิที่กล่าวนามมาแล้วนั้น ถึง ศก 2471 นักเรียนชั้นปริญญาได้จบลง 18 คน สอบไล่ได้ 18 คน ถึงเวลาแล้วที่จะให้ปริญญาแก่นักเรียนเหล่านี้...”
    ส่วนหนึ่งของหนังสือกราบบังคมทูลของมหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ไปยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ปริญญาแพทย์ชั้น Medicinae Baccalareus (เวชบัณฑิตตรี หรือ แพทยศาสตร์บัณฑิต)
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าธานีนิวัติ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ต่อมาใน พ.ศ. 2473 เมื่อนิสิตแพทย์ปริญญารุ่นที่ 2 สำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวงธรรมการได้ขอพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ให้ปริญญาแพทย์เช่นเดียวกัน ในปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุย ความตอนหนึ่งว่า
    “...นิสสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและได้ปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อครุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติยศ ให้เข้ารูปเยี่ยงนิสสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ...”
    ครั้นวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกก็ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมตึกอักษรศาสตร์ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีนี้นอกจากพระราชทานปริญญาเวชบัณฑิตตรีแก่แพทย์ปริญญารุ่นที่ 1 จำนวน 14 คน (บางคนไปรับปริญญาในปีอื่นเนื่องจากทำงานอยู่ต่างจังหวัด) และแพทย์ปริญญารุ่นที่ 2 จำนวน 15 คนแล้ว ศ.เอลเลอร์ จี เอลลิส ยังได้รับพระราชทานปริญญาเวชบัณฑิตเอก (แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต) กิตติมศักดิ์ด้วย โดยมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นองค์ประธานในพิธี นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทาน นับแต่นั้นมาการพระราชทานปริญญาบัตรจึงเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจและพระกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง
    อ้างอิง
    - ข้อมูลจาก “เทิดพระเกียรติคุณ ๘๐ ปี ฑีฆายุวัฒนะ” โดย ศ. พิเศษ ดร. นพ.สรรใจ แสงวิเชียร