เมื่อเอ่ยถึงพระนาม “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์ ประชาชนชาวไทยทุกคนล้วนทราบดีว่า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นผู้ปฏิรูปประเทศสยามหลายด้าน เพื่อนำไปสู่ความทันสมัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะการยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย ส่งเสริมการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน
พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม พระองค์ทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟหลวง ทั้งสายอีสาน สายเหนือ และสายใต้ และสร้างถนนสายต่าง ๆ ทำให้การคมนาคมในประเทศสะดวกขึ้น มีผลทั้งด้านเศรษฐกิจ และการกระจายการปกครองสู่ส่วนภูมิภาคต่าง ๆ
ในด้านการสาธารณสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มสร้าง “โรงศิริราชพยาบาล“ โรงพยาบาลหลวงแห่งแรก เพื่อช่วยดูแลด้านสุขภาพให้กับประชาชน และโปรดเกล้าให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทย "โรงเรียนศิริราชแพทยากร" นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกได้สำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ พ.ศ. 2436 และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2443 โรงเรียนแพทย์นี้ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า "ราชแพทยาลัย" จากโรงเรียนแพทย์ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นคณะแพทยศาสตร์ จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีแห่งแรกในประเทศไทย
ทางด้านการปกครอง ทรงปฏิรูปการปกครองการบริหารแบบใหม่ แบ่งงานต่าง ๆ ออกเป็นกระทรวง จัดการปกครองหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพ
ด้านสัมพันธภาพการทูต ทรงผูกไมตรีกับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งในยุโรป เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้สยาม รอดพ้นจากการเอาเปรียบจากการล่าอาณานิคมของ อังกฤษ และฝรั่งเศส
นอกจากนั้นยังมีพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณูปโภค เช่น การไฟฟ้า การประปา
ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจของพระองค์ ส่งผลโดยตรงกับการพัฒนาของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ทำให้ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนยิ่ง
เมื่อ พ.ศ. 2451 ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 40 พรรษา ประชาชนจึงร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช” หรือ พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์
อ้างอิง
- ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
และนำผลการประเมินไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง